การวางแผนการเงินไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การออมเงิน หรือการกำหนดกลยุทธ์สำหรับการลงทุนเท่านั้น การวางแผนการเงิน คือ กระบวนการในการจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมเพื่อทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตตามลำดับความสำคัญที่ต้องการได้
เป้าหมายสำคัญต่างๆ ในชีวิต ได้แก่ การซื้อบ้าน การสมรส ทุนการศึกษาบุตร การจัดการความเสี่ยงสำหรับตนเองและครอบครัว การเกษียณอายุ การลงทุน การวางแผนมรดก การวางแผนภาษี รวมถึงการมีเงินลงทุนเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ เป็นต้น
การวางแผนการเงินช่วยให้คุณสามารถกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการเงิน การพิจารณาตัดสินใจเรื่องการเงินในแต่ละเรื่องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายชีวิตจะช่วยให้คุณทราบถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่อาจส่งผลต่อเป้าหมายชีวิต ดังนั้น คุณจึงสามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตให้เข้ากับสถานกาณ์ส่วนตัวที่เปลี่ยนแปลงไป และช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตตามที่ต้องการได้
นักวางแผนการเงินจะต้องอธิบายให้ทุกคนทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงิน สอบถามเป้าหมายและความต้องการของคุณ รวมทั้งจัดลำดับเป้าหมายและความต้องการดังกล่าวและประเมินว่านักวางแผนการเงินสามารถช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายและความต้องการได้หรือไม่
นักวางแผนการเงินจะสอบถามและต้องได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอผ่านการสัมภาษณ์และขอเอกสารเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของคุณ ได้แก่ รายรับ รายจ่าย สินทรัพย์และหนี้สิน และเป้าหมายและความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของคุณ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนการเงิน
นักวางแผนการเงินจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลสถานะทางการเงินในปัจจุบันของคุณ ทั้งในด้านงบดุลส่วนบุคคล อัตราส่วนทางการเงิน (เงินออม/รายได้ ค่าใช้/รายได้ หนี้/ได้) งบกระแสเงินสด การทำประกันชีวิต พอร์ตการลงทุนและภาระภาษี เพื่อประเมินความสามารถในการบรรลุเป้าหมายและความต้องการตามลำดับความสำคัญ
นักวางแผนการเงินจะต้องจัดทำและนำเสนอแผนการเงิน โดยเสนอทางเลือกในการลงทุน ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความต้องการของคุณ
นักวางแผนการเงินจะต้องหารือแผนปฏิบัติการร่วมกับคุณเพื่อดำเนินการตามคำแนะนำในแผนการเงิน ซึ่งคุณอาจให้ความเห็นชอบหรือปฏิเสธคำแนะนำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ทั้งนี้ นักวางแผนการเงินอาจใช้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เช่น นักบัญชี เป็นต้น
เนื่องจากสมสติฐานทางการเงินและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น นักวางแผนการเงินจะต้องติดตามและทบทวนความเหมาะสมของคำแนะนำ และคุณจะต้องแจ้งให้นักวางแผนการเงินทราบการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานทางการเงินและสถานการณ์ส่วนตัวที่มีนัยสำคัญโดยทันที เพื่อใช้ในการปรับแผนปฏิบัติการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.thaipfa.co.th/news/view/218